สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา  สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา (ธัมจักรกัปปวัตตนสูตร)

                   ดังนั้นสังขาร เมื่อถูกปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้ว  ในที่สุดย่อมคืนสู่สภาพเดิมหรือธรรมชาติเดิม  ก่อนการปรุงแต่งโดยธรรมหรือธรรมชาติ  กล่าวคือย่อมมีการดับเป็นธรรมดา จึงบังเกิดการบีบคั้นขึ้น และเกิดอาการอนิจจังความไม่เที่ยงขึ้น  ที่มีอาการของการแปรปรวนเพื่อคืนสู่ธรรมชาติเดิมเป็นธรรมดา  จนทุกขังทนอยู่ไม่ได้ในที่สุด ย่อมต้องดับเป็นธรรมดา  ล้วนเป็นอนัตตา เพราะไม่มีตัวตนแท้จริงอีกแล้ว  เพราะดับไปเสียแล้ว  และสภาวะอย่างนี้ต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา หรือ ตถตา มันเป็นเช่นนั้นเอง
     
                  ชีวิตคือการเดินทาง  แต่ไม่ใช่เป็นการเดินทางแบบที่นักท่องเที่ยวเดืนทางไปทั่วโลก เป็นการเดินทางกลับไปสู่สภาวะที่แท้จริง สภาวะที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ 

                  หลวงพ่อชา สุภทฺโท กล่าวว่า ธรรมะไม่ได้อยู่ที่ไหน แต่ธรรมะอยู่ที่กายที่ใจของเราทุกคนอยู่แล้ว เราทุกคนก็อยู่กับธรรมะอยู่ทุกๆ วัน และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับมันอยู่แล้ว  แต่เมื่อเราไม่รู้ เราก็เดินทางออกนอกตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อแสวงหาธรรมะ แสวงหาสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว  เพียงแต่เราไม่มีสติปัญญามากพอที่เห็นมันเท่านั้นเอง  

                  ดังนั้น ในชั้นแรกที่สุดเราจึงต้องหาเครื่่องมือที่จะทำให้เราเห็นมันได้อย่างชัดเจน โดยไม่มีสิ่งใดมาปิดบังความจริงได้อีกแล้ว คือการทำให้เรามีสติปัญญาที่มากพอที่จะใช้ฟาดฟันทะลุทะลวงภาพมายาต่างๆ ที่มันมาบดบังไม่ให้เราเห็นความจริงของชีวิต    เมื่อเรามีสติปัญญาเป็นเครื่องมือ ซึ่งเราต้องหมั่นฝึกฝนมันอยู่ทุกๆ วันเพื่อให้เกิดความชำนาญในการต่อสู้กับภาพลวงตาที่ถูกสร้างขึ้นโดยความคิดปรุงแต่งจนดูเหมือนว่า มันเป็นจริงเป็นจังอย่างนั้นจริงๆ 

                 แต่พอเรามีสติปัญญาที่มากพอแล้วภาพลวงตาเหล่านั้นก็จะหลอกเราไม่ได้อีกต่อไป ธรรมะก็คือธรรมชาติ  จิตคืนสู่ธรรมชาติ จิตคืนสู่บ้านเดิม  ธรรมชาติของคนเราก็เช่นเดียวกัน เมื่อมันมีความทุกข์มันก็พยายามหาทางดิ้นกลับไปสู่ความไม่มีทุกข์ คือกลับเข้าไปรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติเดิมของมัน ซึ่งเป็นบ้านเดิมของมัน เป็นบ้านที่แท้จริงที่มีแต่ความสุขสงบร่มเย็น
                
                 พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสารถี ได้ตรัสสอนพระราหุลถึงการพิจารณาธาตุ ๕ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศ โดยแยกออกเป็นส่วนๆ ตอนท้ายได้ตรัสให้พระราหุลทำใจเหมือน ดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศ พอสรุปเป็นใจความได้ดังนี้

              ๑. ราหุล ! เธอจงทำจิตให้เหมือนแผ่นดินเถิด เพราะเมื่อเธอทำจิตให้เหมือนแผ่นดินเป็นประจำอยู่เสมอแล้ว เมื่อกระทบอารมณ์ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจก็ดี อารมณ์เหล่านั้นจะไม่สามารถทำจิตให้หวั่นไหวได้  เปรียบเหมือนคนทั้งหลายทิ้งสิ่งของที่สะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ถ่ายอุจจาระรดบ้าง ถ่ายปัสสาวะรดบ้าง บ้วนน้ำลายรดบ้าง เทสิ่งของสกปรกอื่นๆ ลงบ้าง ลงที่แผ่นดิน แต่แผ่นดินจะอึดอัดระอา หรือรังเกียจด้วยสิ่งของนั้นๆ ก็หาไม่ ฉันใด
                       
                ราหุล ! เธอจงทำจิดให้เสมอแผ่นดินฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอทำจิตให้เหมือนแผ่นดินอยู่เมื่อมีการกระทบกับอารมณ์เกิดขึ้น ความรักหรือความชังก็จะไม่สามารถครอบงำจิตได้ ฉันนั้น ?

                ๒. ราหุล ! เธอจงทำจิตให้เหมือนน้ำเถิด เมื่อเธอทำจิตให้เหมือนน้ำแล้ว จะไม่เกิดความชอบหรือความชังครอบงำจิตใจเธอได้  เปรียบเหมือนคนทั้งหลาย ล้างของหรือทิ้งของที่สะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้างลงในน้ำ น้ำจะอึดอัดหรือระอา หรือรังเกียจด้วยของนั้นๆ ก็หาไม่ ฉันใด

             ราหุล ! เธอจงทำจิตให้เสมอน้ำนั้นแล เมื่อกระทบอารมณ์แล้ว ความชอบและความชังจะไม่สามารถครอบงำจิตเธอได้ ฉันนั้น ?

                 ๓. ราหุล ! เธอจงทำจิดให้เหมือนด้วยไฟเถิด เพราะไฟนั้นเมื่อมีผู้ทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ทิ้งอุจจาระ ปัสสาวะบ้าง ฯ ไฟจะรู้สึกอึดอัดระอา หรือรังเกียจด้วยสิ่งนั้นๆ ก็หาไม่ ฉันใด

                   ราหุล ! เมื่อเธอทำจิตให้เหมือนด้วยไฟอยู่ การกระทบกับสิ่งที่ชอบและชังก็ย่อมจะไม่ปรุงแต่งให้จิตแปรปรวนได้ ฉันนั้น ?

               ๔. ราหุล ! เธอจงทำจิตให้เหมือนลมเถิด เพราะลมนั้นย่อมพัดไปถูกต้องของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง พัดถูกอุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้าง ฯ ลมจะรู้สึกอึดอัดระอา หรือรังเกียจต่อสิ่งของเหล่านั้นก็หาไม่ ฉันใด 

                    ราหุล ! เมื่อเธอทำจิตให้เหมือนลมอยู่ การกระทบกับสิ่งที่ชอบและชังย่อมจะไม่ปรุงแต่งให้จิตของเธอแปรปรวนได้ ฉันนั้น ?

                ๕. ราหุล ! เธอจงทำจิตให้เหมือนอากาศเถิด เพราะอากาศนั้นไม่ตั้งอยู่ในที่ไหน ฉันใด 

                   ราหุล ! เมื่อเธอทำจิตให้เหมือนด้วยอากาศอยู่ตลอดเวลาแล้ว เมื่อกระทบกับอารมณ์ย่อมจะไม่เกิดความชอบและความชังขึ้นได้ ฉันนั้น ?

                 มหาราหุโลวาทสูตร ๑๓/๑๓๖

                บุคคลผู้ที่มีทิฏฐิ มานะ อัตตา และโทสะจริต น่าจะลองนำเอาคำสอนในพระสูตรนี้ไปใช้เป็นประจำ เพี่อลดความโทมนัส น้อยใจ หรือขัดเคืองใจ เมื่อเห็นว่าผู้อื่นล่วงเกินทำให้เกิดความไม่สบายใจ หงุดหงิด หรือรำคาญใจ  แม้ทำไม่ได้ในพระสูตรนี้  ถ้าเราได้หัดทำอยู่เสมอๆ มีสติสัมปชัญญะระวังจิตไม่ปล่อยไปตามอารมณ์ที่มากระทบ  จิตของเราก็จะสงบ

                 นั่นก็คือจุดหมายปลายทางของความสุขที่ทุกคนปรารถนา แม้ได้รับเพียงครั้งคราว ก็นับว่าประเสริฐสุดแล้ว.

                        สาธุ...

                        ขอขอบคุณ
 abhibhamonline.org